ท่านผู้อ่านลองเดาดูนะครับว่า สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook แล้วลูกค้ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงสุด? เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเดาออกนะครับว่า กลุ่มผู้ใช้งาน Facebook ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือกลุ่มผู้สูงวัยทั้งหลาย โดยผมขอไม่กำหนดอายุนะครับว่าสูงวัยสำหรับเราเริ่มที่เท่าไร เพราะจากที่ไปเสาะหาข้อมูลสำหรับเขียนบทความนี้บางทฤษฎีก็เริ่มที่ 50 บางทฤษฎีก็เริ่มที่ 65 แต่ไม่ว่าจะเริ่มที่อายุเท่าไร ผู้ใหญ่กลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดสำหรับผู้ใช้งาน Facebook
สำหรับบรรดาวัยรุ่นทั้งหลายนั้นโดยเฉพาะวัยรุ่นที่อายุประมาณ 20 บวกลบก็เป็นกลุ่มที่เริ่มหนีหายไปจาก Facebook มากขึ้น สาเหตุหลักๆ ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ นอกจากการที่บรรดาคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ทั้งหลายเมื่อเริ่มเล่น Facebook กันมากขึ้น ก็ทำให้ความเป็นส่วนตัวของวัยรุ่นเหล่านั้นเริ่มหายไป
มาดูสถิติกันบ้างจากล่าสุดจากการเก็บข้อมูลของ iStrategyLabs เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในสมาชิกของ FB ในอเมริกาตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2014 พบว่ากลุ่มอายุ 13-17 ปีใช้งาน FB น้อยลง 25.3% ในขณะที่กลุ่มอายุ 18-24 ปีใช้งาน FB น้อยลง 7.5% ส่วนกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปใช้งาน FB เพิ่มขึ้น 80.4% ส่วนข้อมูลล่าสุดจาก Pew Research พบว่าร้อยละ 64 ของผู้ใหญ่วัย 50-64 ใช้งาน FB เป็นประจำส่วนผู้ใหญ่วัย 65 ปีขึ้นไปใช้ FB เป็นประจำ 48%
ในฐานะที่คลุกคลีกับวัยรุ่นเป็นประจำทุกวัน (ทั้งลูกตนเองและลูกศิษย์) ข้อมูลจากฝั่งอเมริกาก็เป็นจริงในประเทศไทยเช่นเดียวกันครับ ถึงแม้วัยรุ่นไทยจำนวนมากยังคงใช้ FB อยู่ แต่ถ้าดูความถี่ในการโพสต์หรือแชร์ข้อความต่างๆ ใน FB ลดน้อยลง วัยรุ่นไทยจำนวนมากหันไปใช้บริการของ Instagram และ Snapchat กันมากขึ้นครับ ส่วนใน FB นั้นเราก็เริ่มพบบรรดาผู้ใหญ่ท่านต่างๆ (ทั้งครูบาอาจารย์อาวุโสหรือญาติผู้ใหญ่หรือรุ่นพี่จากสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือผู้ใหญ่ที่พบเนื่องจากภาระงาน) เข้ามาเป็น friend และแชร์ข้อมูลรวมถึงสิ่งต่างๆ บน FB มากขึ้น
ทีนี้เรามาดูกันบ้างว่า อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ผู้ใหญ่หันมาเล่น FB กันมากขึ้น? มีการสำรวจจากหลายๆ สื่อของอเมริกาที่พยายามศึกษาหาว่า ผู้ใหญ่ใช้ FB กันเพื่ออะไร ก็มักจะได้ผลลัพธ์ออกมาคล้ายๆ กันครับ นั้นคือเพื่อเชื่อมต่อกับคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูงต่างๆ และสุดท้ายคือเพื่อคอยติดตามเฝ้าดูบุคคลอันเป็นที่รัก
สาเหตุแรกนั้นชัดแจ้งครับ นั้นคือผู้ใหญ่ใช้ FB เพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัว รวมทั้งญาติและเพื่อนฝูงที่ไม่ได้ติดต่อกันมานาน FB กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง (สำหรับในประเทศไทย Line ก็เป็นอีกหนึ่ง platform ที่เข้ามามีบทบาทตรงนี้) ส่วนสาเหตุประการที่สองนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากความอยากทราบครับ นั้นคือท่านผู้ใหญ่ท่านก็อยากจะทราบว่าปัจจุบันลูกหลานท่านกำลังทำอะไรกันอยู่ ไปเที่ยวไหนชีวิตมีความสุขดีไหม เรียนหนังสืออยู่จริง หรือแอบ Live ในห้องเรียน ดังนั้น FB จึงกลายเป็นเครื่องมือในการติดตามและเฝ้าดูพฤติกรรมของบุคคลอันเป็นที่รักของบรรดาท่านผู้ใหญ่ต่างๆ (และนี้คือสาเหตุสำคัญว่าทำไมวัยรุ่นจำนวนมากถึงหนีหายไปจาก FB)
คราวนี้เราลองมาดูกันครับ ว่าเมื่อผู้ใหญ่หันมาเล่น FB กันมากขึ้นแล้ว ตัว Facebook เองจะต้องปรับตัวอย่างไรให้รองรับกลุ่มประชากรสูงวัยเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ Facebook ได้เริ่มพัฒนาตนเองจากการเป็นแหล่งที่แชร์รูปตนเองหรือข้อความต่างๆ ให้คนอื่นรับทราบ กลายเป็นแหล่งแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้ใหญ่ล้วนแล้วแต่มีความต้องการที่จะเสพข่าวสารข้อมูลต่างๆ เป็นประจำ ดังนั้น FB จึงได้พัฒนาลูกเล่นต่างๆ ในอันที่จะทำให้เราสามารถแชร์ข่าวสารจากเว็บต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น (เริ่มจากเว็บข่าวหลักๆ ของอเมริกาก่อนครับ)
จริงๆ ในประเทศไทยเอง ก็เห็นกระแสการแชร์ข่าวต่างๆ ผ่านทาง FB มากขึ้น ผมเองได้มีโอกาสรับรู้ข่าวสารหลายๆ อย่างก็ผ่านทาง FB มากกว่าทางสื่อปกติทั่วๆ ไป เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ซึ่งนอกเหนือจากข่าวสารทั่วไปแล้ว บรรดากอสซิปดารา หรือกระทู้เด็ดจากพันทิปก็ได้อ่านกันจาก FB มากขึ้น
อย่างไรก็ดี FB ก็ไม่ทิ้งความพยายามที่จะดึงบรรดาวัยรุ่นให้กลับมาใช้ FB กันมากขึ้นนะครับ อย่างลูกเล่นล่าสุดของ FB คือ Live หรือการเน้นเรื่อง Video Streaming ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลวิธีที่ FB พยายามสู้กับคู่แข่งอย่างเช่น Snapchat แต่คำถามคือจะดึงวัยรุ่นกลับมาได้หรือในเมื่อบรรดาญาติผู้อาวุโสและผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เตรียมที่จะเฝ้าติดตามวัยรุ่นผ่านทาง FB อยู่แล้ว
โดย : ดร.พสุ เดชะรินทร์