ผู้นำยุคเปลี่ยนผ่านต้องมีหัวใจแกร่ง ทว่าพวกเขาคือปุถุชน มีอาการป่วยใจอยู่ในตัว ถึงเวลาโค้ชชิ่ง!สลายปมมืด สู่สมาร์ทซีอีโอ“เก่ง-ดี-เป็นที่รัก”
ในยุคที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องวิ่งให้ทันความผันผวนของเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าเทคโนโลยี และใจผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน
องค์กรที่จะอยู่รอดได้ คือองค์กรที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อย่างสร้างสรรค์ และสนุกไปกับการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องเริ่มต้นจากผู้นำองค์กร (Chief Executive Officer) ฐานที่เป็นผู้ถือหางเสือเรือ นำองคาพยพในเรือสู่ทิศทางที่ปลอดภัย (Safe) และรุดหน้า(Growth)
ทว่า ซีอีโอ เริ่มยอมรับความจริงว่า..ไม่มีใครเพรียบพร้อมสมบูรณ์แบบ (Nobody Perfect) ทำให้ “ธุรกิจโค้ชผู้บริหาร” เป็นหนึ่งธุรกิจที่มาแรงในต่างประเทศ และเริ่มเข้ามาในไทยมากขึ้น
หน้าที่ของการโค้ช คือการ “แก้ปมในใจผู้นำ” ทำให้ผู้นำองค์กรให้เป็น ผู้นำที่สมบูรณ์พร้อมมากขึ้น ผลักดันองค์กรให้กล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมรสุมธุรกิจ เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)
พจนารถ ซีบังเกิด ผู้ก่อตั้ง จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach) ผู้มากประสบการณ์การทำงานในหลากธุรกิจมากว่า 35 ปี เข้ามาอยู่ในแวดวงการพัฒนาบุคลากรที่มีชื่อเสียงมากว่า 10 ปี
ปัจจุบันเธอคือโค้ชผู้บริหารให้องค์กรชั้นนำหลายแห่ง โดยใช้ทักษะการโค้ชชีวิต (Life Coach) เพื่อดึงศักยภาพผู้นำไปสู่การขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจ
“องค์กรในไทยยังมีส่วนน้อยที่ใช้ระบบการโค้ชผู้บริหาร ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แต่เป็นเทรนด์ที่สถาบันการจัดอันดับเครดิต อย่างทริสเรทติ้ง นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการวัดเรทติ้งองค์กร องค์กรมีการพัฒนาผู้บริหารอย่างไร ด้วยระบบอะไร และผู้บริหารอยู่ในองค์กรได้นานหรือไม่ ทำให้ความนิยมใช้โค้ชในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
จาก 5 ปีที่แล้วผู้บริหารไม่มีใครอยากบอกว่ามี โค้ชประจำกาย แต่ปัจจุบันมีการแชร์ประสบการณ์ระหว่างซีอีโอด้วยกันว่าโค้ชกับใคร “โค้ชจิมมี่” เล่าและว่า
เพราะซีอีโอ มีมิติของความเป็น “มนุษย์” ที่มีทั้งความเก่ง กล้า สามารถ คุณธรรม และความกลัว สิ่งเหล่านี้เกิดจากสภาพแวดล้อมและจากประสบการณ์ และคุณงามความดีเฉพาะตัวของแต่ละคนที่เพาะบ่มกันมา
โดยซีอีโอ ต้องไขรหัส รู้จัก เข้าใจตัวตนของตัวเองเสียก่อนไปนำผู้อื่น โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่จะรักษาสมดุลความฝันสูงสุดทางธุรกิจ พร้อมกับเติมเต็มเสียงเรียกร้องความสุขภายในใจได้อย่างลงตัว
“เมื่อธุรกิจสำเร็จแล้วผู้บริหาร ก็ต้องรู้สึกอิ่มเอมด้วย (Fulfilling) แต่หากข้างในผู้บริหารไม่ซัคเซสก็ถือว่าไม่ซัคเซส”
โค้ชชีวิตจึงต้องเข้าไปช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจความรู้สึกอิ่มเอมผลลัพธ์การทำงานจากข้างใน เพื่อเดินไปข้างหน้าคว้าชัยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
เพราะศาสตร์ของการโค้ชเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะทำได้ดีกว่าที่เห็นและเป็นอยู่ คนทุกคนทำได้ทุกอย่างคนเปลี่ยนแปลงได้ และโลกนี้ไม่มีคำว่า “ล้มเหลว”
โค้ชจิมมี่ เล่าว่า จากการโค้ชหลายๆคนค้นพบว่า ปัญหาอันดับแรกๆของซีอีโอ คือ “ผู้บริหารป่วยทางใจ” จากความไม่เข้าใจตัวเอง
“หากเสียงเรียกร้องภายในและภายนอกมันทะเลาะกันเอง ผู้นำก็จะป่วย ขาดความแม่นยำในการบริหาร หรือ ไม่มีความสุขในการทำงาน ซีอีโอต้องกล้าตัดสินใจตามเสียงเรียกร้องของหัวใจตัวเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้ภาวะการตัดสินใจเพื่อคนอื่น ผู้บริหารที่แข็งแรงต้องดำรงตนเป็นหนึ่งเดียว (Authentic)ไม่สองจิตสองใจ จึงสร้างความไว้วางใจ (Trust)ได้”
เช่น ซีอีโอท่านหนึ่งที่ผ่านการโค้ช เป็นคนที่เกิดอาการเครียดลงกระเพาะทุกครั้ง เมื่อได้รู้ข่าวว่าต้องขึ้นไปยืนแถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก และต้องถูกยิงคำถาม
คงเพราะรู้สึกประหม่า ไม่ปลอดภัย ข้างในไม่เป็นหนึ่งเดียว เมื่อต้องตอบคำถามต่อหน้าคนมากมาย
หรือมีผู้บริหารหลายคน หวังผลลัพธ์ในการทำงานตรงเป้าหมาย จนลืมนึกถึงลูกน้อง จึงไม่เป็นที่รักในสายตาลูกน้อง เพราะนิสัย “ทุบโต๊ะ” ไม่ไว้หน้าผู้ใด จอมโมโห ปากร้าย เจ้าอารมณ์ ช่างประชดประชัน
อีกบุคลิกที่เป็นมลพิษต่อการทำงาน โดยเฉพาะการที่ซีอีโอมีประสบการณ์ที่สั่งสมมามากมาย ทำให้เขาเป็นนักพูดมากกว่านักฟัง
ซีอีโอที่มีนิสัยเช่นนี้จึงพลาดประเด็นและเรื่องราวดีๆ ขาดการปฏิสัมพันธ์ ที่เชื่อมต่อไปสู่ความไว้วางใจ และศรัทธาจากลูกน้อง
เธอเล่าเหตุการณ์หนึ่งให้ฟังว่า ซีอีโอคนหนึ่ง ประสบการณ์ความสำเร็จมา 4-5 แห่ง ด้วยจึงมั่นใจในตัวเองสูง มองเป้าหมายเป็นใหญ่ ไม่ใส่ใจคนรอบข้าง เน้นการทำงานเชิงรุก (Aggressive) อยู่บริษัทต่างชาติมาก่อน ชอบพูดตรงบาดใจคนฟัง มากกว่าประนีประนอมแบบวัฒนธรรมไทย
แต่เมื่อเข้ามาใช้วิธีการทำงานบริษัทใหม่ในรูปแบบเดิมกลับถูกลูกน้องต่อต้านวิธีการบริหารเช่นนี้ จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย สับสน แม้หน้าที่ถูกมอบหมายเป็นผู้นำในการผ่าตัดองค์กร
สิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารต้องพึ่งโค้ช
“เจ้าของธุรกิจจ้างเขาบริหาร เพราะรูปแบบทำงานได้ผลลัพธ์ตามต้องการเป็นสิ่งที่เขาถนัด แต่ชอบทุบโต๊ะ พูดตรง เมื่อย้ายมาทำแบบเดิมที่ทำงานใหม่กลับไม่มีใครกลัวเขา เพราะมาแพทเทิร์นที่ไม่เหมือนเดิม ทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะผู้บริหารคนนี้ขาดมนุษย์สัมพันธ์แต่เขาไม่รู้ตัว (Human Relationship) “
เป็นเหตุการณ์ที่พบบ่อยครั้ง ในคนที่หวังผลลัพธ์รวดเร็ว มักไม่ไว้หน้าคน เช่นเหตุการณ์หนึ่ง
โค้ชจิมมี่เล่าถึงซีอีโอในลักษณะคล้ายกันว่า มีชายหนึ่งคนมาสายในที่ประชุม และมาถึงทักทายเล็กน้อยต่อหน้าคนทั่วไป แต่ผู้บริหารคนนั้นเบรคกลางวงคนมาสายว่า
“มาสายแล้วยังขัดขวางที่ประชุมอีก !”
คงไม่ต้องบอกว่าห้องประชุมเกิดความเงียบสงัด และอึมครึมทันที หลังเหตุการณ์ประชุมจบลงแม้ผู้บริหารพูดถูก แต่ผู้ร่วมประชุมกลับไม่ตำหนิผู้มาสาย ตรงกันข้ามพวกเขากลับไม่ชอบใจที่ซีอีโอทำลายบรรยากาศและปากร้ายได้ขนาดนี้
นั่นเป็นบทเรียนหนึ่งที่ผู้บริหารต้องเรียนรู้ไม่ให้แนวทางการหวังผลลัพธ์มาก ถูกใช้ผิดที่ผิดทางจน "เสียรังวัด"
เบื้องหลังการโค้ช เมื่อนั่งคุยกันผู้บริหารคนนี้กลับไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า "เขาทำผิด" เพราะเวลาทำงานไม่เคยสังเกตุอากัปกิริยาของคนรอบข้างว่าเขารู้สึกอย่างไร ทำไมผู้ร่วมประชุมเกิดอาการแน่นิ่งกลางอากาศอยู่นาน เมื่อเขาดุลูกน้อง
“แพทเทิร์นการทำงานแบบเดิมของเขาทำให้เขาไม่รู้ตัว” โค้ชจิมมี่ มองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่โค้ชต้องกล้าฟีดแบ็คเตือนสติผู้บริหาร ให้เข้าใจตัวเองอย่างมีสติ ปัญญา ลดการเกรี้ยวกราด อยู่ในวิถีพุทธ มีธรรมะในใจ
ภาษาสากลหากไม่มีศาสนามาเกี่ยวข้องเราเรียกว่าการมีสติ (Mindfulness)คือการอยู่กับปัจจุบัน สภาวะเพ่งความใส่ใจของตนไปที่อารมณ์ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยตั้งใจและยอมรับ แต่ไม่ตัดสิน อธิบายทางวิทยาศาสตร์เมื่อจิตนิ่ง และมั่นคงพอจะมองเห็น “กลยุทธ์อันแหลมคม”
ความยากและท้าทายของซีอีโอ อยู่ตรงที่ต้องมีวิสัยทัศน์เห็นอนาคตชัดเจน แต่จะต้องรู้ เข้าใจปัจจุบันไม่เครียด กังวล
“เป็นความยากที่จะให้ซีอีโออยู่กับปัจจุบัน เมื่อมีตัวชี้วัด (KPI) มีเกณฑ์ประเมินผลงาน จึงต้องโค้ชให้ซีอีโอมองเห็นภาพวิชั่นให้ชัดเจนแล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่เครียดไป เพราะเมื่อมีสติก็จะคิดกลยุทธ์ทำให้ปัจจุบันที่ไปสู่เป้าหมาย เมื่อเรานิ่ง ปัญญา หรือ ญาณทัศนะ”
ขณะที่ปัญหาส่วนตัว (Personal Life) กลับมีผลอย่างสูงต่อพฤติกรรมการทำงาน!
ซีอีโอหลายคนไม่สามารถแยกแยะเป้าหมาย ของตัวเองและคนรอบข้างได้ เช่น สังคม พ่อแม่ ลูก การโค้ชจึงต้องทำให้ซีอีโอสำรวจตรวจสอบ (Verify) เสียงเรียกร้องคุณค่าที่แท้จริงภายในจิตใจ ซีอีโอบางคนตามล่าหาความสำเร็จจนลืมถึงลูกและภรรยา ต้องโค้ชให้ซีอีโอมองเห็นภาพความอบอุ่นจากครอบครัว ความรักและเข้าใจครอบครัว ผู้อื่น เป็นเรื่องเดียวกันกับความสำเร็จของชีวิตการทำงาน ที่เติมเต็มให้ซีอีโอมีพลังในการทำงาน
ซีอีโอ อีกคนเป็นคนช่างประชดประชันไม่ฟังเสียงลูกน้อง ทั้งที่กำลังจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กร ที่เปิดใจเข้าหากันและกัน
ผู้โค้ชไม่สามารถเปลี่ยนเขาได้หากเขาไม่คิดเปลี่ยนตัวเอง ผู้โค้ชจึงต้องไกด์ให้เขามีสติ ด้วยคำถามและให้ระลึกหรือจินตนาการนึกถึงไอดอลในดวงใจ ซึ่งผู้บริหารคนนั้นนึกถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ผู้โค้ชตั้งคำถามว่า "หากคุณเป็นดร.ป๋วยและคุยกับตัวเองคุณจะแนะนำตัวเองอย่างไร”
ปรากฎว่า ผู้บริหารคนเดียวกันที่ใจเย็นขึ้น สวมวิญญาณดร.ป๋วย คุยกับตัวเองอย่างมีสติและเข้าใจ ตอบว่า “ผมก็ต้องใจเย็น ฟังลูกน้อง ทำให้เขาพูดกับผมเยอะๆ ผมจะได้เข้าใจ และรู้บางอย่างที่เขาทำได้ก็ไม่ต้องสอน ส่วนสิ่งที่ทำไม่ได้ก็มีโอกาสสอนงานเขา การฟังทำให้รู้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน"
ที่สำคัญลูกน้องเก่งขึ้น ซีอีโอก็ไม่ต้องทำงานที่ลูกน้องทำ
หันไปทำงานในเชิงกลยุทธ์
การโค้ชจึงช่วยทำให้คลี่ปมภายในจิตใจของผู้บริหารได้ทุเลาลง และเดินไปข้างหน้าทำงานอย่างมีคุณค่า
วิธีการโค้ชให้ผู้บริหารเข้าใจตัวเอง ผ่านคำถาม แม้ในบางประเด็นจะรุนแรงสำหรับผู้ถูกโค้ช แต่ช่วย “เตือนสติ” ซีอีโอในเรื่องที่คนรอบข้างไม่กล้าพูดได้
จากผลงานที่ผ่านมา แต่ละกรณีส่วนใหญ่ สามารถพาผู้บริหารปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อพลิกพลังด้านบวกในตัวมาใช้
โค้ชจิมมี่ ยังสรุปให้เห็นความแตกต่างระหว่างการโค้ชต่างชาติ กับคนไทย ว่า มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานและความกลัวที่เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ “การเล่าเรื่อง” ที่ต่างชาติจะจับประเด็นได้ง่ายกว่า เพราะระบบการศึกษาสร้างคนให้มีวิธีคิดที่เป็นตรรกะ (Logic) ตรงประเด็น
ขณะที่คนไทย ชอบการเล่าเรื่องแบบยาวๆ อ้อมไปอ้อมมาไม่ตรงประเด็นตอบไม่ตรงกับความจริง นุ่มนวล รักษาภาพลักษณ์
ดังนั้นต่างชาติจึงเข้าใจตัวเองและลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เร็วกว่าคนไทย เพราะสังคมเดี่ยว หากไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่รอด ขณะที่คนไทยยังอยู่ในสังคมปลอบประโลม ประคบประหงม จนทำให้บางคนจมอยู่กับความทุกข์ได้นาน โดยไม่คิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะมีคนคอยปลอบใจ
โค้ชจิมมี่ ได้เล่าถึงบทบาทของผู้นำในองค์กร แบ่งเป็น 2 ด้านคือ ผู้นำที่สร้างผลงาน (Performance Leadership) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับต้น และผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Change Leadership) จะอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น
ทุกผู้นำต้องทั้ง Change และ Perform ในแต่ละบทบาทผู้บริหาร และผู้นำ เพราะต้องทำทีมให้มีผลงานตามหน้าที่มอบหมาย
“น้ำหนักในการแสดงออกของบทบาทผู้นำแตกต่างกัน เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นจะเป็น Change Leader มากขึ้น ตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น จะใช้ Performance Leader มากกว่าเพราะต้องเน้นเรื่องปฏิบัติให้ได้ผลตามที่ได้รับเป้าหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็น Change Leader แต่มีน้ำหนักที่น้อยกว่าผู้นำระดับสูง”
+++6 ความดี 3 ความกลัว
การโค้ชชิ่งช่วยอะไรผู้บริหารให้รู้จักตัวตน เรื่องราว บุคลิกเฉพาะของแต่ละคน เข้าใจความเป็นมนุษย์ พฤติกรรมความต้องการและความกลัวเป็นแรงผลักดัน
โดยในวิถีของโค้ช นั้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเนื้อนาความดีงาม เป็นพลังบวกติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่ภาษาพุทธ เรียกว่าพุทธภาวะ (Human Being)
“ธาตุแท้มนุษย์มีความเชื่อค่านิยมส่วนตัวและมีความต้องการพื้นฐานและมีความกลัวผลักดันให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้"
ศาสตร์แห่งการโค้ช จะมีประเด็นอ่านความเป็นมนุษย์จากความต้องการพื้นฐาน 6 ด้านคือ
- ความมั่นคง แน่นอน (Certainty)
- ความหลากหลาย ชอบค้นหาผจญภัย ชอบความท้าทาย เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Uncertainty, Variety, Adventure)
- ความรัก และความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว (Love & Connection)
- ความมีตัวตน โดดเด่น น่าสนใจ (Significance) เก่ง ดี มีคุณค่า ในสายตาคนอื่น
- ความก้าวหน้า (Growth) การเติบโต ไม่อยู่กับที่ มีวิวัฒนาการ
- เป็นผู้ให้ (Contribution) มีเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
ผู้นำขององค์กรก็มีความต้องการเหล่านี้เช่นเดียวกันกับผู้นำทั่วไป
แต่สิ่งที่ซีอีโอ พึงฝึกตนสม่ำเสมอ จัดวางสมดุลไม่ให้แต่ละความต้องการมากเกินไปจนกินพื้นที่ส่วนอื่น จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน เช่น หากผู้บริหารมั่นคงเกินไป หรือชัวร์มากไปชีวิตไม่สนุก อยู่ในจุดปลอดภัย ก็จะเบื่อชีวิตก็ดูไร้ค่า แต่หากเปลี่ยนแผนไปตลอดเวลา ก็ขาดความน่าเชื่อถือ เป้าหมายมีหลากหลายทิศทาง ทำให้ลูกน้องสับสนได้
“ทั้ง 6 ความต้องการมีทั้งบวกและลบที่เป็นพลังขับเคลื่อนคน แต่ผู้บริหารจะต้องเรียนรู้การดึงพลังด้านบวกมาใช้ให้สมดุล เช่น หากมั่นคง แน่นอนเกินไปก็กลายเป็นการควบคุมลูกน้องให้อยู่ในกรอบ เดินตามแผน หรือเปลี่ยนแผนตลอดเวลา หรือหากต้องการความโดดเด่น แสดงฝีมือคนเดียว ลูกน้องก็จะขาดโอกาสทำงาน แสดงฝีมือ"
แต่สิ่งที่ซีอีโอจะต้องมีให้มาก คือ ความก้าวหน้า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ และเป็นผู้มีเมตตา เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้โอกาสคนได้แสดงผลงาน และคอยส่งเสริม
ขณะที่ความกลัวพื้นฐานของมนุษย์มี 3 ด้านคือ กลัวไม่ดีพอ (Fear of not good enough), กลัวไม่เป็นที่รัก (Fear of not being loved) และ กลัวไม่เข้าพวกกับคนอื่น (Fear of not belong to)
หากผู้บริหารเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้จะดึงพลังด้านดีของความต้องการพื้นฐานและก้าวข้ามความกลัวของตัวเองมาขับเคลื่อนพลังการทำงาน
+++หมดยุคอัศวินขี่ม้าขาว
ขณะที่การโค้ชอีกรูปแบบหนึ่งคือการโค้ชเพื่อ “สร้างทีมเวิร์ค” โดยสร้างการโค้ชให้เป็นเสมือนวัฒนธรรมขององค์กรที่ทุกคนพร้อมเรียนรู้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดซึ่งกันและกัน
สิ่งสำคัญการของโค้ชเพื่อสร้างทีมเวิร์คอยู่ที่ทำให้เป้าหมายของพนักงานเป็นเป้าหมายเดียวกับองค์กร
“เช่น หากองค์กรต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่พนักงานชอบอยู่อย่างสมถะ ก็ต่างกันแล้ว หากไม่ลาออกก็ต้องเปลี่ยนค่านิยม คุณค่า เปลี่ยนความเชื่อ ไม่เช่นนั้นก็อึดอัด”
การโค้ชเพื่อสร้างทีม หากสำเร็จดีตรงที่ทุกคนจะช่วยกันเดินไปข้างหน้าในบทบาทของตัวเองที่แตกต่างกัน แต่เข้าใจในบทบาทของตัวเอง และจะเกิดการหลอมรวมกัน (Engagement) ร่วมกันในองค์กร ที่เต็มไปด้วยความรักและความผูกพันและให้โอกาสกันและกันแสดงฝีมือและศักยภาพ ตอบพื้นฐานความต้องการของตัวเอง
แต่หากไม่เกิดปรากฎการณ์ร่วมมือกัน คนในทีมก็ต้องตกอยู่ในสถานะเห็นที่ทำงานเป็นเพียง "แหล่งทำมาหากิน “ไม่ได้เติมเต็มคุณค่าใดกับตัวเอง
เพราะยุคนี้หมดยุคมองหาอัศวินขี่ม้าขาว ผู้นำที่เก่งกาจคนเดียวไม่อาจพาองค์กรรอด
องค์กรที่ประสบความสำเร็จ จึงต้องสร้างวัฒธรรมความร่วมมือในองค์กร (Collaboration)
+++
โค้ชเบอร์ 2 สู่ ซีอีโอเลือดใหม่
พจนารถ ซีบังเกิดผู้ก่อตั้ง จิมมี่ เดอะ โค้ช (Jimi The Coach) เล่าว่า 2 ปีที่แล้ว องค์กรต้องการผู้นำที่มีทักษะเป็น “นักคิดและนักวิเคราะห์”
ทว่าวันนี้ ธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ซีอีโอ ในยุคนี้จึงต้องเป็น “ผู้วางวิสัยทัศน์” (Create Vision) มีความสามารถโน้มน้าวรวมใจคน (Convince) ในองค์กรเดินไปถึงเป้าหมายนั้น
การโค้ชจึงไม่ได้ทำเฉพาะระดับซีอีโอ แต่ยังหมายถึงการบ่มเพาะผู้บริหารเลือดใหม่ (Successor)
“ก่อนขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่ง จึงต้องเห็นในทุกมิติภายใต้ธุรกิจ แม้ในส่วนงานที่ไม่คุ้นเคย หากไม่รู้ภาพรวมทั้งหมดจะเอา
ฐานทัพ และกำลังที่ไหนมาสร้างสรรค์การทำงานตอนขึ้นไปเป็นซีอีโอ จึงไม่ใช่พื้นที่ที่ตัวเองเติบโตมา เช่น ขายอย่างเดียวหรือผลิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเรียนรู้งานทุกด้าน”
เรื่องเช่นนี้ผู้บริหารรู้อย่างดี แต่มีผู้บริหารเบอร์สองขององค์กรหลายคนเมื่อเจอกับตัวเอง ตอนถูกโยกย้ายงานให้ไปรับผิดชอบงานหลังบ้านด้านที่ไม่ถนัด เช่น ไอที บัญชี และงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) กลับรู้สึกเหมือนอกหัก ถูกแขวนตำแหน่ง
ดังนั้น ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจึงต้องอธิบายให้ชัด พร้อมกับสร้างระบบโค้ชชิ่ง เป็นตัวช่วยให้ผู้บริหาร เข้าใจกับสภาพความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ใหม่
ไม่ว่า ตำแหน่งผู้บริหารในทุกระดับขั้น ตั้งแต่ ซูเปอร์ไวเซอร์ หัวหน้า ผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ หรือ ซีอีโอล้วนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงต้องปรับบทบาทและทักษะตามหน้าที่ใหม่ หากใช้ทักษะเดิมทำงานไม่มีวันเป็นผู้นำที่ดีได้
“หากหวังผลลัพธ์แตกต่าง ย่อมต้องทำงานที่แตกต่าง”
โดย : ประกายดาว แบ่งสันเทียะ